ข้อเสนอการประยุกต์แนวคิดทางปรัชญาของ กลุ่มแฟรงค์เฟริท สคูล มาใช้เป็นฐานคิดการสร้างสรรค์งานศิลปะหลังสมัยใหม่ในประเทศไทย


เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม
กลุ่มแฟรงค์เฟริทสคูล เป็นชื่อสถาบันวิจัยสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเมืองแฟรงค์เฟริท ในประเทศเยอรมัน ราวปี ค.ศ.1924 ในฐานะที่เป็นสถาบันซึ่งอุทิศให้กับการศึกษาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ สถาบันดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างหลวมๆกับ The University of Frankfurt มาตั้งแต่ต้น ซึ่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางสำหรับแนวคิดฝ่ายซ้ายของชาวเยอรมัน แต่กระนั้นก็ตาม สถาบันดังกล่าวก็ยังไม่เจริญอย่างเต็มที่ จนกระทั่ง Max Horkheimer ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการในปี ค.ศ.1930 เขาได้รวบรวมนักวิชาการกลุ่มต่างๆที่มีแนวคิดทฤษฎีวิพากษ์ ความคิดในลักษณะวิภาษวิธี อย่างเช่น Theodor Adono, Walter Benjamin, Herbert Marcuse, และ Erich Fromm เป็นต้น เพื่อมาสร้างระบบการศึกษาในแบบสหวิทยาการขึ้น แม้ว่ากลุ่มแฟรงค์เฟริทสคูลจะมีอายุเพียงไม่นาน แต่ด้วยวิธีคิดที่เป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้นักคิดกลุ่มนี้สร้างผลกระทบและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิดทางสังคม วิทยา การเมือง และวัฒนธรรมในคริสตศตวรรษที่ 20 และได้เป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้เกี่ยวกับการประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้ เป็นฐานคิดการสร้างสรรค์งานศิลปะในประเทศไทย เกี่ยวกับการประยุกต์แนวคิดแฟรงค์เฟริทสคูลมาเป็นฐานคิดการสร้างสรรค์ศิลปะ ในงานวิจัย ได้นำเอานักคิดคนสำคัญของกลุ่มมาเป็นตัวตั้ง และพิจารณาลงไปในงานชิ้นสำคัญของแต่ละคนเป็นหลัก จากนั้นได้นำมาวิเคราะห์ออกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจำแนกออกเป็น 10 พื้นที่การศึกษา อาทิเช่น พื้นที่ทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์, พื้นที่ทางปรัชญา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง, พื้นที่ทางวัฒนธรรม, พื้นที่ทางจิตวิทยา, พื้นที่เกี่ยวกับความเป็นเพศ, พื้นที่ทางด้านภาษาและการสื่อสาร เป็นต้น ต่อจากนั้นได้แปรสิ่งเหล่านี้ไปเป็นข้อเสนอ ซึ่งบรรดาศิลปินทั้งหลาย สามารถนำเอาความคิดเหล่านี้ไปประยุกตใช้ได้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตน เอง การมองปัญหาต่างๆในทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของศิลปินไทยที่ผ่านมา มีลักษณะ single approach ซึ่งเป็นสิ่งตกค้างจากประวัติศาสตร์ในยุคโมเดิร์น ที่มองปัญหาต่างๆในลักษณะแยกส่วน ทำให้ขาดความเข้าใจปัญหาในลักษณะที่เป็นองค์รวม นอกจากนี้ยังมีลักษณะการใช้ความคิดในเชิงวิพากษ์ไม่มากนัก ดังนั้นงานศิลปะที่ปรากฏออกมาจึงเป็นภาพสะท้อนในลักษณะกระจกเงา มากกว่าที่จะเจาะลึกลงไปถึงปัญหา งานวิจัยชิ้นนี้พยายามเข้ามาเสริมในส่วนนี้ให้กับบรรดาศิลปินทั้งหลาย โดยเน้นไปที่กรอบความคิดในเชิงบริบท นอกจากนี้ยังต้องการกระตุ้นให้ศิลปินและผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับงานศิลปะสนใจ ในปัญหาสังคม โดยเปิดโลกทัศน์เข้าไปสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลายและรอบด้าน ส่วนกระบวนการแปรความคิดไปเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ เป็นหน้าที่ของศิลปินแต่ละคนอย่างอิสระ

ความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นเสียงเชิงวิทยาศาสตร์กับคุณ ค่าทางสุนทรียภาพเชิงศิลปะ


เรียบเรียงโดย ธิติพล กันตีวงศ์

                  ดนตรี (Music) มีความหมายแตกต่างกันในแต่ละบริบททางสังคม ดนตรีเป็นแขนงองค์ความรู้หนึ่งที่สำคัญในศาสตร์ศิลปะ ลักษณะความแตกต่างระหว่างดนตรีกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ นั้น กล่าวได้ว่า ดนตรีทำงานอยู่บนพื้นที่ (Space) และ เวลา (Time) อาศัยการรับรู้โดยใช้ผัสสะการฟัง ส่วนงานศิลปกรรมที่ใช้ผัสสะในการมองเห็น (Visual Arts) นั้น ทำงานบนพื้นที่ว่าง (Space) ลักษณะดนตรีสามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ และศิลปะ
ดนตรีในทางวิทยาศาสตร์ ดนตรี เกิดจาก คลื่นเสียง และเวลา การบรรเลงเครื่องดนตรีมีความเชื่อมโยง
กับวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เริ่มต้นแต่สมัยกรีกโบราณปรากฏทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเสียงโดยการค้นพบอัตราส่วนที่สำคัญ (Ratios) โดยนักวิทยาศาสตร์ (Pythagoras) ซึ่งค้นพบระบบ (Harmonic Series) ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างบทประพันธ์ดนตรีในเวลาต่อมา และค้นพบ อัตราส่วน 4:3 ได้ขั้นคู่ 4 (P4) Fourth อัตราส่วน 3:2 ได้ขั้นคู่ 5 (P5) Fifth อัตราส่วนที่สำคัญนี้ยังส่งผล และมีบทบาทกับลักษณะองค์ประกอบทางศิลปะ และงานสถาปัตยกรรมในขณะนั้น ความสำคัญของ (Harmonic Series) เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการสร้างบันไดเสียง (Scale) ในเวลาต่อมา
มนุษย์สามารถรับฟังเสียงได้ในระดับความถี่ที่ 20 Hertz ถึง 20000 Hertz แต่ในระดับคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่า 20 Hertz มนุษย์ไม่สามารถรับฟังระดับเสียงในระดับที่ต่ำกว่า 20 Hertz ได้ แต่มนุษย์สามารถรับความรู้เสียงของคลื่นเสียงที่ต่ำกว่า 20 Hertz ได้จากความสั่นสะเทือนของระดับเสียงที่เกิดขึ้น พบได้ในเพลงที่มีเสียงต่ำประเภทเพลง Dance / Hip Hop เป็นต้น
เชิงปรัชญาและศิลปะถูกนำเสนอทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงอุดมคติ โดยนักปราชญ์ชาวกรีกชื่อ BOETHIUS ได้แบ่งระดับของดนตรีออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย
MUSICA INSTRUMENTALIS เครื่องดนตรี ระดับการรับรู้ใช้หูฟัง
MUSICA HUMANA ดนตรีมนุษย์ ระดับการรับรู้ใช้สัมผัสทั้ง 7
MUSICA MUNDANA ดนตรีจักรวาล ระดับการรับรู้ใช้ ญาณ
                 ลักษณะเฉพาะทางดนตรีที่เด่นชัดในสมัยกรีก โรมัน สรุปได้ว่า ดนตรีเป็นดนตรีแบบบริสุทธิ์ ให้ความสำคัญต่อลักษณะการเคลื่อนที่ของทำนอง ทำนองมีความสัมพันธ์ต่อจังหวะและหน่วยคำ ไม่มีการบันทึกโน้ต ใช้การจดจำทำนอง นักปราชญ์มองดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ลดความเชื่อเรื่องการใช้ดนตรีบูชาเทพเจ้า ธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบทฤษฏีเกี่ยวกับสวนศาสตร์(Acoustic) บันไดเสียงถูกสร้างขึ้นจาก Tetra chords และ ทฤษฏีดนตรีพัฒนาขึ้น ได้รับการยอมรับจากการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์
ยุคกลาง(The Middle Ages) ถือเอาการสถาปนาจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 800 เป็นการเริ่มต้นยุคหลังจากยุโรปตกอยู่ในยุคมืด ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันเดิมล่มสลายในปี 476 ส่วนการสิ้นสุดยุคกลางนั้น ตกอยู่ประมาณต้นศตวรรษ ที่ 15 (บางตำราว่า ค.ศ. 1420 บ้างว่า 1450) ในยุคมืด การเมืองการปกครองระส่ำระส่ายมาก เพราะแว่นแคว้นเดิมของโรมันรบพุ่งแย่งอำนาจกันบ่อยๆ มีเพียงคริสตจักรเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของประชาชน คริสตจักรเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วยุโรปและเป็นเครือข่ายกันอย่างเหนียวแน่น จนสามารถสถาปนาการปกครองของตนขึ้นได้ โดยมีโรมเป็นศูนย์กลางและมีสันตะปาปาเป็นประมุข อันเป็นกำเนิดของนิกายโรมันคาทอลิก เพลงสวดของชาวคริสต์ในแต่ละแห่งมีธรรมชาติแตกต่างกันตามเชื้อชาติ ปลายศตวรรษที่ 6 สันตะปาปาเกรกอรี มหาราช แห่งโรมได้นำเพลงทั้งหลายมาจัดหมวดหมู่ และเปลี่ยนภาษาร้องเป็นภาษาลาตินอันเป็นภาษากลางของคริสตจักรโรมันคาทอลิค เพลงเหล่านี้ในตอนแรกได้ชื่อว่า เพลงสวดโรมันเก่า (Old Roman Chant) ภายหลัง เพื่อเป็นเกียรติแก่สันตะปาปาเกรกอรี ได้ชื่อใหม่ว่าเกรกอเรียนชานต์ (Gregorian Chant) เกรกอเรียนชานต์เป็นเพลงแนวเดียวไม่มีเครื่องดนตรีบรรเลงร่วม ไม่มีระบบจังหวะ ทำนองดำเนินไปเรียบๆ ทีละขั้น ตามบันไดเสียงซึ่งวัดกำหนด(ห้ามใช้บันไดเสียงของพวกนอกวัด) และใช้คำร้องที่เป็นบทสวดมนต์ภาษาลาตินเท่านั้นการบันทึกโน้ตในยุคสมัยนั้น คงไม่มีวิธีการบันทึกโดยใช้โน้ตตัว
กลมเหมือนในปัจจุบัน การบันทึกมีการใช้โน้ตที่มีหัวโน้ตเป็นสี่เหลี่ยม
ยุคฟื้นฟู (The Renaissance 1400-1600 B.C.) มีช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 15 ถึงประมาณ ค.ศ. 1600 ชื่อยุคได้มาจากการยอมรับเอาศิลปะวิทยาการดีๆ ของกรีกโบราณและโรมันมาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ความรู้และความคิดดังกว่าสั่งสมมาตั้งแต่สงครามครูเสด (Crusade war)ซึ่งรบๆ หยุดๆ กินเวลาร้อยกว่าปี กับการแปลเอกสารภาษาอาหรับจำนวนมาก ซึ่งทำให้พบว่าได้มาจากชาวกรีกอีกทอดหนึ่ง อีกปัจจัยคือ ความเข้มแข็งของระบบอบศักดินาที่เริ่มมาแต่ยุคกลางจากอังกฤษกับฝรั่งเศสก่อน และขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ชนชั้นปกครอง และขุนนางมีอำนาจต่อรองกับคริสตจักรมากขึ้น ความรู้ความคิดจากกรีกและโรมันทำให้ มีนักปราชญ์ที่สนใจในสิทธิมนุษยชน เกิดลัทธิมนุษยนิยม(Humanism)
ลัทธิมนุษยนิยม(Humanism) ทำให้ดนตรีฆราวาสพัฒนาขึ้นมาก วังมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาดนตรีไม่น้อยหน้ากว่าวัดอีกต่อไป อิทธิพลของดนตรีนอกวัดรุกคืบเข้าไปเปลี่ยนแปลงดนตรีในวัดทีละอย่างๆ จนข้อห้ามต่างๆ ในอดีตถูกละเมิดหรือยกเว้นไปเกือบหมด เพลงนอกวัดที่ใช้บันไดเสียงต้องห้ามถูกยืมไปเป็นตัวตั้งในการแต่งเพลงหลาย แนวสำหรับใช้ในวัดบ่อยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงฝรั่งเสศชื่อ ลอมมาร์เม (L\’Homme arme) ถูกคีตกวีหลายสิบคนยืมไปแต่งเพลงสวดประเภทมิชชา จนมีมิชชาลอมมาร์เม รวมแล้วประมาณ 50 สำนวน
                  เพลงและดนตรีบรรเลงหลายแนวซ้อนกัน ทำให้ขั้นคู่ที่ซ้อนกันมีระยะห่างต่างๆ กันไป ไม่ใช่ทำนองขนานกันเป็นพืดยาวอีกต่อไป พัฒนาการขั้นนี้ทำให้เกิด คอร์ด เกิดความรู้สึกว่าดนตรีมีศูนย์กลางของเสียง(tonality) ที่เรียกว่า โทนิก(tonic) ขึ้น และเกิดความนิยมให้เสียงในลำดับที่เจ็ดของบันไดเสียง เดินเข้าหาโทนิก ในระยะใกล้กันเพียงครึ่งเสียง ลักษณะนี้เป็นธรรมชาติของบันไดเสียงนอกวัด แต่ทางวัดก็ต้องยอมรับในที่สุด เหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดทฤษฎีการประสานเสียง หรือฮาร์โมนีขึ้นด้วย
                   ยุคสมัยบาโรค (1600-1750 B.C.) ดนตรีบรรเลงยุคบาโรค ส่วนมากเป็นดนตรีที่มีหลายทำนองซ้อนกัน ตามหลักการ หรือทฤษฎีที่มีชื่อเรียกว่า เคาน์เตอร์พอยต์ (Counterpoint) มีคอร์ดเป็นเครื่องมือสำคัญในการประพันธ์ และมีบันไดเสียงเมเจอร์ กับไมเนอร์เป็นบันไดเสียงหลัก ในช่วงตอนปลายของยุคบาโรคดนตรีเริ่มมีความแตกต่างในวิธีการการเทียบเสียง เพื่อศาสนา ศูนย์กลางทางศาสนามีความหลากหลาย ได้ทำการตกลงการเทียบเสียงให้เป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดเพื่อพระเจ้าพระองค์ เดียวกัน จึงได้ทำการตกลงให้ใช้การเทียบเสียง A = 440 Hz และใช้ระบบการเทียบเสียงนี้มาจนถึงยุคปัจจุบัน
วิธีการเทียบเสียงนี้ได้รับการยอมรับเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมาในชื่อของ (Mozart Tuning) วิธีการนี้เองสามารถคำนวณการผสมเสียงเพื่อให้เกิดการผสมความถี่ที่แตกต่าง ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะทางดนตรีเพื่อให้ทราบถึง ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของดนตรีแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกทรรศน์ (Paradigm)
ปัจจุบันรูปแบบของดนตรีได้พัฒนาไปตามโลกทรรศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รูปแบบดนตรีร่วมสมัย(Contemporary Music) หรือรูปแบบดนตรีสมัยใหม่ มีพัฒนาการไปถึงระบบของการสร้างสรรค์ดนตรี (Nano Music) มีวิธีการผสมเสียงที่แตกต่างกันอย่างละเอียด
                 หากมองย้อนกลับมาสำรวจดนตรีทางตะวันออก หรือดนตรีที่ไม่ใช่วัฒนธรรมดนตรีตะวันตก(Non-Western Art Music) แล้วพบว่ามีสุนทรียภาพทางด้านดนตรี และบริบทที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันออกไปจากรูปแบบดนตรีทางตะวันตก สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบายถึงลักษณะความแตกต่างของดนตรี ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัฒนธรรมจากการศึกษา วิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์เช่นกัน
                  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้รับฟังสียงฆ้องวงของไทยแล้วเรารู้สึกว่ามีความแตกต่างไปจากระดับ เสียงของเปียโน และอาจไม่สามารถบรรเลงร่วมกันได้อย่างกลมกลืนนั้น เนื่องมาจากวิธีคิดของดนตรีทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกัน ระบบเสียงในภาษานั้นแตกต่างกันด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ระดับเสียงที่ได้ยินได้ฟังจึงมีความแตกต่างกัน จากการศึกษาของนักดนตรีวิทยาชาวตะวันตก(David Morton) ที่เข้ามาสำรวจและศึกษาระบบเสียงของดนตรีไทยนั้น พบว่า ใน 1 ช่วงเสียงของดนตรีตะวันตกมีความแตกต่างกันของระดับเสียงแบ่งออกเป็น 12 เสียงเท่าๆ กัน C C# D D# E F G G# A A# B C ส่วนดนตรีไทยนั้นในช่วงความยาวที่เท่ากัน 1 ช่วงเสียง แบ่งระดับเสียงออกเป็น 7 เสียงเท่ากัน (7 Equal Tones) ด ร ม ฟ ซ ล ท ด
ความกลมกลืนระหว่างคลื่นเสียงที่เหมาะสมตามระเบียบแบบแผนตะวันตก กับระยะความห่างของเสียงที่มีความงามอย่างไทย หากทำการวิเคราะห์พบว่ามีความแตกต่างของการเทียบเสียงของรูปแบบดนตรีทั้งสอง รูปแบบ สุนทรียภาพของดนตรีแต่ละยุคสมัยขึ้นอยู่กับมุมมองโลกทัศน์ (Paradigm) ของสังคมแต่ละยุคสมัย ยกตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น อัตราส่วนที่เหมาะสมในสมัยบาโรค (Baroque) ใช้อัตราส่วน 3:4 ในงานสถาปัตยกรรม อัตราส่วนนี้เรียกว่า (Golden Ratios) สุนทรียภาพร่วมนี้เองได้ปรากฏในวิธีการประพันธ์ดนตรีโดยใช้อัตราส่วนทาง คณิตศาสตร์เช่นกัน หากมองรูปแบบ และแนวโน้มของดนตรีในสมัยปัจจุบัน พบว่าดนตรีมีวิธีการสร้างสรรค์ไปตามวิทยาศาสตร์ และโลกทัศน์ที่ต่างกันไป วัฒนธรรมดนตรีตะวันตกสามารถแบ่งแยกความแตกต่างของรูปแบบดนตรีไว้อย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้
Middle Ages — Modal Music — Monophony
Renaissance — Modal Music — Polyphony
Baroque — Tonal Music — sigma F = ma
Classic — Tonal Music — sigma F = ma
Romantic — A-Tonal /Bi-Tonal/Pan-Tonal Music — E=mcc
20th Century — A-Tonal /Bi-Tonal/Pan-Tonal Music — E=mcc
                  แต่ละยุคสมัยดนตรีตะวันตกมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงรูปแบบดนตรีอย่างต่อ เนื่อง เมื่อกลับมาพิจารณาดนตรีไทย พบว่าดนตรีไทยมีพัฒนาการด้านรูปแบบดนตรี และวิธีการเทียบเสียงที่แตกต่างกันออกไป ดนตรีไทยภาคกลางพบว่าการเทียบเสียงมีความแตกต่างกัน การเทียบเสียงดนตรีไทยแบ่งกลุ่มออกได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือการเทียบเสียงแบบกรมศิลปากร ระดับเสียงมีความแตกต่างจากการเทียบเสียงแบบดนตรีตะวันตกอย่างชัดเจน อีกกลุ่มคือการเทียบเสียงแบบกรมประชาสัมพันธ์ เสียงที่เทียบตามรูปแบบนี้มีระดับเสียงค่อนไปทางการเทียบเสียงแบบตะวันตก แต่ก็ยังมีค่าที่แตกต่างจากระดับเสียงดนตรีตะวันตก การที่ระดับเสียงมีระดับที่แตกต่างกันออกไปนั้นที่ให้เกิดเสียงเพี้ยน 2 รูปแบบ คือ เพี้ยนสนิท และเพี้ยนเสนาะ เสียงที่เทียบไม่ตรงกับเสียงที่เทียบหลัก เรียกว่าเสียงเพี้ยน ขึ้นอยู่ว่าใช้เสียงใดเป็นเสียงหลัก
                    โดยสรุป การเปลี่ยนทางด้านดนตรีและวิทยาศาสตร์มีปัจจัยที่สำคัญจากการเปลี่ยนมุมมอง ทางสังคม บางครั้งการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ส่งผลถึงความคิดด้านงานศิลปะ และบางครั้งศิลปะมีส่วนสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน “ดนตรี เป็นศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์ และอธิบายได้โดยมุมมองทางปรัชญาและศิลปะ”

นิทรรศการ “412 Time & Space”


สัมผัสผลงานศิลปะฝีมือคนรุ่นใหม่ ใช้จินตนาการผสานภูมิปัญญาดังเดิม
ในนิทรรศการ “412 Time & Space”
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญชมนิทรรศการ “412 Time & Space ” วันที่ ๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปกรรมในรายวิชา ความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะและการออกแบบ (Creative Thinking in Art and Design) ของนิสิตปริญญาโท รุ่นที่ ๔ จำนวน ๑๒
 คน ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อันเกิดจากการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับประยุกต์ สร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ ด้วยลีลาและจังหวะเฉพาะตัว เกิดเป็นผลงานศิลปะอันแตกต่าง หลากหลาย ให้ความรื่นรมย์ผสมแนวคิด และยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้รักงานศิลปะอีกด้วย
การทำเครื่องปั้นดินเผารูปทรง ๑๒ ราศี ณ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาปลาบู่ทอง บ้านทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
การสร้างผลิตภัณฑ์เซรามิคร่วมสมัยในแนวคิดอิสระ ด้วยเทคนิคกระบวนการแบบใหม่ ณ กลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาโมทนา ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย
ผลงานศิลปะการออกแบบตามจินตนาการ ในหัวข้อนาฬิกา โดยใช้วัสดุง่าย ๆ ใกล้ตัว
ขอเชิญสัมผัสผลงานศิลปะฝีมือคนรุ่นใหม่ในนิทรรศการ “412 Time & Space ” ทุกวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา ๐๘.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ตลอดเดือนกันยายนนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๓